__________

วัตรปฏิบัติ

ข้อกฏิกาสงฆ์
คลิกที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่

 

วัตรปฏิบัติประจำวัน
คลิกที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่

 

 



วัตร ๑๔

วัตร ๑๔ คือ ระเบียบวิธีการปฏิบัติต่างๆในสังคมความเป็นอยู่ของภิกษุ อันส่งเสริมให้การบำเพ็ญสมณธรรม ดำเนินไปด้วยดีและเรียบร้อย


๑. อาคันตุกวัตร หน้าที่ของอาคันตุกะผู้เข้าไปสู่อาวาสอื่น ต้องมีความเคารพต่อสถานที่และประพฤติตัวให้เหมาะสม เช่น ถอดรองเท้า หุบร่ม ห่มเฉวียงบ่า เดินไปหาภิกษุผู้อยู่ในอาวาส ทำความเคารพท่าน ถามถึงที่พัก ห้องน้ำ ห้องส้วม น้ำใช้น้ำฉัน ทำความสะอาดที่พักอาศัย และประพฤติตนตามกฎกติกาของวัดเป็นต้น
๒. อาวาสิกวัตร หน้าที่ของเจ้าอาวาส(เจ้าถิ่น)ที่จะต้องปฏิบัติต่อพระอาคันตุกะ เช่น หากภิกษุอาคันตุกะพรรษาแก่กว่ามา ให้ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ลุกไปรับบาตรจีวร ถวายน้ำฉันน้ำใช้ กราบไหว้ บอกเรื่องต่างๆ เช่นห้องน้ำ ห้องส้วม โคจรบิณฑบาต และกติกาสงฆ์...ฯลฯ
๓. คมิกวัตร หน้าที่ของผู้เตรียมจะไปที่อื่น ก่อนออกเดินทางพึงเก็บเครื่องใช้สอยเช่น เตียง เก้าอี้ เสื่อ หมอน ผ้าห่ม เป็นต้นไว้ให้ดี ปิดประตูหน้าต่าง ฝากหรือคืนเสนาสนะให้ภิกษุสามเณร อุบาสก หรือคนของวัด(ให้)ช่วยดูแลแล้วจึงเดินทาง...ฯลฯ
๔. อนุโมทนวัตร ทรงอนุญาตให้อนุโมทนาในที่ฉัน วิธีอนุโมทนา ให้พระภิกษุผู้เป็นเถระอนุโมทนา หากทายกนิมนต์ภิกษุหนุ่มให้อนุโมทนา ต้องบอกหรือขอโอกาสพระเถระก่อน ในขณะที่ภิกษุอื่นอนุโมทนาอยู่ หากมีเหตุจำเป็นเช่นปวดอุจจาระ ถ้าจะลุกไป ต้องลาพระภิกษุผู้นั่งใกล้ก่อน...ฯลฯ
๕. ภัตตัควัตร ธรรมเนียมในโรงฉัน หรือเมื่อไปฉันในบ้าน ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย เดินไปตามลำดับอาวุโส ไม่เบียดกัน ปฏิบัติตามเสขิยวัตรทุกข้อ ไม่นั่งเบียดพระเถระ ฯลฯ
๖. บิณฑจาริกวัตร ระเบียบประพฤติในเวลาออกบิณฑบาต ให้ปฏิบัติตามเสขิยวัตร เช่น นุ่งห่มให้เรียบร้อย ซ้อนผ้าสังฆาฏิ ห่มคลุมกลัดรังดุม กลอกบาตร ถือบาตรในจีวร กำหนดทางเข้าออก ไม่ยืนใกล้หรือไกลจากผู้ให้นัก อย่ามองหน้าผู้ถวายรูปใดกลับก่อนปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน...ฯลฯ
๗. อรัญญิกวัตร ระเบียบของผู้อยู่ป่า ก่อนออกบิณฑบาตเก็บเครื่องใช้สอยไว้ในกุฏิ ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย จัดหาน้ำใช้น้ำฉันมาเตรียมไว้ เรียนรู้ทิศต่างๆและการเดินทางของดวงดาว เพื่อป้องกันการหลงทาง...ฯลฯ
๘. เสนาสนวัตร วิธีดูแลที่อยู่อาศัย ให้ทำความสะอาดอยู่เสมอ ให้ เคลื่อนย้ายบริขารด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบครูดสีพื้นประตูหน้าต่าง ถ้ากุฏิเก่าให้ซ่อมแซม หากมีลมฝนแรงต้องปิดประตูหน้าต่าง...ฯลฯ
๙. ชันตาฆรวัตร ข้อปฏิบัติในเรือนไฟที่อบกายระงับโรค ทำความสะอาด ตั้งน้ำ ไม่เบียดชิดพระเถระ ไม่กีดกันอาสนะภิกษุหนุ่ม บีบนวดและสรงน้ำแก่พระเถระ...ฯลฯ
๑๐. วัจกุฎีวัตร ระเบียบปฏิบัติในเวลาเข้าส้วม ถ่ายอุจจาระปัสสาวะแล้วต้องทำความสะอาดส้วมให้เรียบร้อย เข้าห้องส้วมตามลำดับที่มาถึงก่อนหลัง พาดจีวรไว้ที่ราวข้างนอก อย่าเลิกผ้าเข้าไป อย่าเบ่งแรง อย่าเลิกผ้าออกมา นุ่งห่มเรียบร้อยแล้วจึงออก ถ้าส้วมสกปรกให้ทำความสะอาด ตักน้ำใส่ไว้ให้เต็ม...ฯลฯ
๑๑. อุปัชฌายวัตร วิธีปฏิบัติของสัทธิงวิหา ริก(ลูกศิษย์)ต่ออุปัชฌาย์ เข้าไปรับใช้ถวายน้ำล้างหน้าบ้วนปาก ช่วยนุ่งห่มจีวรให้ ซักผ้า ล้างบาตร ทำความสะอาดกุฏิ รับย่าม ถ้าเดินทางร่วมกับท่าน ไม่ควรเดินใกล้หรือไกลเกินไป ไม่พูดสอดแทรกขณะท่านพูดอยู่ จะทำอะไรต้องถามท่านก่อน จะไปไหนต้องกราบลา ป้องกันอาบัติให้ท่าน เอาใจใส่ยามอาพาธ...ฯลฯ
๑๒. สัทธิงวิหาริกวัตร ข้อที่อุปัชฌาย์จะพึงมีต่อศิษย์ เช่น อนุเคราะห์ด้วยพระธรรมวินัย อบรมสั่งสอนอยู่เนืองๆให้บริขารเครื่องใช้ ถ้าศิษย์อาพาธให้อุปัชฌาย์ปฏิบัติต่อศิษย์ดังในอุปัชฌาย์เช่นกัน เป็นต้น
๑๓. อาจริยวัตร วิธีปฏิบัติต่ออาจารย์ อันเตวาสิก(ศิษย์)ผู้ถือนิสัยอยู่ด้วยอาจารย์ พึงปฏิบัติต่ออาจารย์ดังอุปัชฌายวัตร
๑๔. อันเตวาสิกวัตร วิธีปฏิบัติต่อ อันเตวาสิก(ศิษย์) อาจารย์ผู้ให้นิสัยพึงปฏิบัติชอบ สงเคราะห์ศิษย์ดังสัทธิงวิหาริกวัตรทุกประการ


• สำหรับรายละเอียดดูหนังสืออริยวินัย

พระวินัย - ศีลของสงฆ์

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าการสอนศิษย์ของหลวงพ่อเน้นเรื่องเอกภาพของมรรค อย่างที่ท่านย้ำอยู่เสมอว่า ศีล สมาธิ และปัญญา แยกออกจากกันไม่ได้ ในการอบรมพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง ท่านจึงเอาศีลของสงฆ์ คือ พระวินัยเป็นหลักใหญ่


พระวินัยคืออะไร

พระวินัย คือ ระบบแบบแผนต่างๆ ที่กำหนดความประพฤติ ความเป็นอยู่ และกิจการของสงฆ์ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ครอบคลุมชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ทุกมุม

พระวินัย ประกอบด้วยสิกขาบทต่างๆ มากมาย มีทั้งข้อกำหนด เกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุด้วยกัน ความสัมพันธกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ตลอดจนการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ระเบียบว่าด้วยการปกครอง และการดำเนินกิจการต่างๆของสงฆ์ ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา การจัดทำ เก็บรักษา แบ่งสันปันส่วนปัจจัย ๔ ฉะนั้นเมื่อรวมข้อห้ามและข้ออนุญาตแล้วก็มีมาก จนกระทั่งหลวงพ่อเคยบอกว่านี้ มีเป็นโกฏิเป็นกือ


เหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงปรารภในการบัญญัติสิกขาบทแก่สงฆ์มี ๑๐ ประการ

๑. เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน
๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในภายหลัง
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น

พระวินัยจึงมีอานิสงส์ทั้งในแง่ของการปฏิบัติธรรมส่วนตัวของพระและในแง่ส่วนรวมของสงฆ์



ข้อวัตรปฏิบัติ


ข้อวัตรปฏิบัติ กฎกติกาที่ตั้งไว้ คือทางแห่งมรรคผลนิพพาน
ถ้าใครไปฝ่าฝืนข้อกติกานั้นแล้ว ก็ไม่ใช่พระ
ไม่ใช่คนที่ตั้งใจมาปฏิบัติ
เขาจะไม่ได้พบเห็นอะไรเลย
ถึงแม้จะอยู่กับผมทุกคืนทุกวันก็ไม่เห็นผม
จะอยู่กับพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า...

หลวงปู่ชา

ธุดงควัตร ( ธุดงค์ ๑๓ )

ข้อ ปฏิบัติเพื่อการขูดเกลาหรือกำจัดกิเลส เป็นข้อปฏิบัติอันบุคคลทำได้ยาก เป็นไปเพื่อการขูดเกลากิเลสอย่างยิ่ง (เป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้สมัครใจจะพึงสมาทานตามกำลัง)

หมวดเกี่ยวกับจีวร
๑. การทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร (ปังสุกูลิกังคะ) “เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร”
๒. การทรงเพียงจีวรสามผืนเป็นวัตร ( เตจีวริกังคะ)“ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ ๔ สมาทานการทรงเพียงจีวรสามผืนเป็นวัตร”
หมวดเกี่ยวกับบิณฑบาตและการฉัน
๓. การเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ( ปิณฑปาติกังคะ)“ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๔. การเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร (สปทานจาริกังคะ) “ข้าพเจ้างดการเที่ยวตามใจอยาก สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตไป ตามลำดับเป็นวัตร
๕. การนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร. (เอกาสนิกังคะ) คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก “ข้าพเจ้างดการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานการ...”
๖. การฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร (ปัตตปิณฑิกังคะ) คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน๑ อย่างคือบาตร “ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานการ...”
๗. การห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร (ขลุปัจฉาภัตติกังคะ) คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต คำสมาทานว่า “อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดโภชนะอันเกิดภายหลังปลงใจ สมาทานการ...”
หมวดเกี่ยวกับเสนาสนะ
๘. การอยู่ป่าเป็นวัตร (อรารัญญิกังคะ) อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย ๕๐๐ ชั่วธนู คือ ๒๕ เส้น คำสมาทานว่า “คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานการ...”
๙. การอยู่โคนไม้เป็นวัตร (รุกขมูลิกังคะ) คำสมาทานว่า “ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานการ...”
๑๐. การถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร (อัพโภกาสิกังคะ) คำสมาทานว่า “ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ มาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานการ...”
๑๑. การถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร (โสสานิกังคะ) คำสมาทานว่า “อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ“แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มิใช่ป่าช้า สมาทานการ...”
๑๒. การถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ (ยถาสันถติกังคะ) คำสมาทานว่า “เสนาสน-โลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานการ...”
หมวดเกี่ยวกับความเพียร

๑๓. การถือยืน เดิน นั่ง เป็นวัตร (เนสัชชิกังคะ) คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง ๓ อิริยาบถ คำสมาทานว่า “เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ”แปลว่า “ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานการ...”

 

ขอขอบพระคุณข้อมูลจากเว็บไซด์วัดหนองป่าพง

หน้าแรก : ประวัติวัด : สิ่งก่อสร้างภายในวัด : วัตรปฏิบัติ : รูปภาพกิจกรรม : ติดต่อ/แผนที่
Contens: Watpapitaktham,2013 | Last update: 20 Jan 2013